วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

วัดสุทธาโภชน์


พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตลาดกระบัง

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตลาดกระบัง
       พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตลาดกระบัง  ตั้งอยู่ ณ วัดสุธาโภชน์ จัดแสดงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของท้องที่เขตลาดกระบัง นำเสนอประเพณีและความหลากหลายทางวัฒนธรรมและศาสนา บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรม และผลิตภัณฑ์ชุมชน นอกจากนี้ภายในวัดยังเป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์เรือมาด และมีกุฏิไม้สักโบราณอายุกว่า 100 ปี ภายในมีข้าวของเครื่องใช้ของพระภิษุสงฆ์ หินบตยา และตู้เก็บพระไตรปิฎกให้ได้เยี่ยมชม
ภูมิวิถีสายน้ำแห่งชีวิต
       จัดแสดงเรื่องราวและร่องรอย สังคมชาวน้ำ ของชาวลาดกระบังในอดีต เนื่องจากพื้นที่มีคูคลองแม่น้ำไหลผ่านกว่า 70 สาย ชาวลาดกระบังจึงมีวิถีชีวิตผูกพันธ์กับสายน้ำ ทั้งเรื่องทำกับและสัญจรโดยมีคลองประเวศบุรีรมย์เป็นคลองสายหลัก
ประเพณีและความหลากหลายทางวัฒนธรรม
        เขตลาดกระบังมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติและศาสนาทั้งชาวรามัญ ( มอญ ) ชาว มุสลิม และชาวไทยพุทธ ก่อเกิดเป็นความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งสะท้อนอัตลักษณ์และตัวตนของผู้คนแต่ละเชื้อชาติออกมาในวิถีชีวิต ประเพณี และการละเล่น อาทิ ประเพณีตักบาตรพระร้อย ตักบาตรน้ำผึ้ง การแห่หงส์ธงตะขาบ การเล่นสะบ้า ประเพณีผีอีจู้ การละเล่นผีกระด้ง ฯลฯ ตลอดจนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายชาวมอญ
คนดีศรีลาดกระบัง
        จัดแสดงประวัติ และผลงานของบุคคลที่สำคัญผู้ทำคุณประโยชน์แก่ชาวลาดกระบัง คือเจ้าจอมมารดากลิ่น ( ซ่อนกลิ่น ) ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เป็นเจ้าจอมมารดาผู้มีเชื้อสายมอญ เป็นผู้ถวายที่ดินและสร้าง วัดสุธาโภชน์เพื่อใช้เป็นสถานศึกษาพระปริยัติธรรม และเป็นที่พำนักของภิษุและสามเณร ภายในวัดจึงได้จัดทำอนุสาวรีย์เจ้าจอมมารดากลิ่นที่ซุ้มบุษบกหน้าอุโบสถ
บุคลสำคัญอีกท่าน ได้แก่ เจ้าคุณทหาร หรือ เจ้าคุณกลาโหม ซึ่งเป็นชื่อเรียกเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ( วร บุนนาค ) พระสมุหกลาโหม ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเป็นผู้ควบคุมการขุดคลองประเวศบุรีรมย์ผ่านท้องที่เขตลาดกระบังไปยังจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้จับจองที่ดินบริเวณริมคลองไว้ประมาณ 1,500 ไร่ โดยมีความตั้งใจจะให้ที่ดินผืนนี้เป็นสถานศึกษาสำหรับอนุชนรุ่นหลัง  ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสถานศึกษาหลายระดับตามเจตนารมย์ผู้จับจองที่ดิน อาทิ โรงเรียน พรตพิทยพยัต สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาลัยช่างศิลป์ กรมศิลปากร ฯลฯ


 _________________________
_______________________________________________
ที่ตั้ง : วัดสุธาโภชน์ เลขที่ 132 หมู่ 7 ซอยฉลองกรุง 8 แขวงทับยาว   เขตลาดกระบัง  กรุงเทพฯ  10520
เปิดทำการ : วันพุธ – อาทิตย์
                    เวลา 09.00 – 17.00 น.
โทรศัพท์ 0 2360 6520 ( พิพิธภัณฑ์ฯ )
             0 2326 6288 ( ฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ )
การเดินทาง : รถประจำทางที่ผ่านสาย 143  ,151 ,1013เล็ก


พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร

     กรุงเทพมหานครตระหนักถึงความสำคัญของมรดกทางศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น จึงได้มีแนวคิดที่จะสร้างแหล่งรวบรวมมรดกทางศิลปะวัฒนธรรม และภูมิปัญญาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาค้นควาของอนุชนคนรุ่นหลัง โดยมีอาคารอันทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรมโบราณสถาน โบราณวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้ ซุ้มแสดงวิถีชีวิต และนิทรรศการอันเป็นเอกลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งจัดแสดงไว้
จากนโยบายของกรุงเทพมหานครที่จะพัฒนาให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครแห่งศิลปวัฒนธรรมดังกล่าว กรุงเทพมหานครโดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว จึงได้ริเริ่มโครงการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพขึ้นในปี พ.ศ. 2546 เพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวม และเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรม ตลอดจนภูมิปัญญาของผู้คนในแต่ละท้องถิ่น และเผยแพร่แก่ประชาชน นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในแต่ละพื้นที่ส่งเสริมให้กรุงเทพเป็น มรดกแห่งคุณภาพชีวิตที่ดี และมีเอกรักษ์ทางวัฒนธรรม
ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครเปิดให้บริการแก่ประชาชนจำนวนทั้งสิ้น 27 แห่ง ใน 25พื้นที่เขต
วัตถุประสงค์
1.        เพื่อเป็นแหล่งเก็บรวบรวมข้อมลูต่างๆทั้งในด้านประวัติความเป็นมา วิถีชีวิต และภูมิปัญญาท้องถิ่น
2.        เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่น และตระหนักถึงคุณค่าที่ควรรักษาไว้ให้คงอยู่
3.        เพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับชุมชน เป็นคลังความรู้ของคนในท้องถิ่นและผู้สนใจทั่วไป และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้กับกรุงเทพมหานคร
4.        เพื่อสร้างความเข้มแข็งและสามัคคีในชุมชนและสร้างเศรษฐกิจชุมชน
ลาดกระบัง : ภูมิ – ถิ่นฐาน
วัฒนธรรมมอญ โบสถ์ไม้สักทองวัดทิพพาวาสหลวงพ่อขาววัดลาดกระบัง
เดิมพื้นที่บริเวณเขตลาดกระบังเป็นพื้นที่การปกครองของเมืองมีนบุรี มีฐานะเป็น อำเภอแสนแสบ
ต่อมาราวปี พ.ศ. 2468 – 2469 พลเอกสมเด็จพระเจ้าที่ยาเธอกรมหลวงลพบุรีราเบศร์ ขณะดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยทรงเห็นว่าชื่ออำเภอแสนแสบ ไม่ตรงกับความเป็นจริงเพราะคลองแสนแสบนั้นไหลผ่านไปทางอำเภอมีนบุรี ไม่ได้ไหลผ่านอำเภอแสนแสบแต่อย่างใด จึงทรงให้เปลี่ยนชื่อจาก อำเภอแสนแสบ เป็น อำเภอลาดกระบัง ตามที่ตั้งที่ว่าการอำเภอซึ่งอยู่ในตำบลลาดกระบัง

ต่อมาจังหวัดมีนบุรีถูกยุบรวมกับจังหวัดพระนคร อำเภอลาดกระบังจึงขึ้นกับจังหวัดพระนคร เมื่อมีประกาศคณะปฎิวัติรวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเข้าด้วยกันเป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรี และเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็นกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2515 อำเภอลาดกระบังจึงเปลี่ยนฐานะเป็น เขตลาดกระบัง มีคลองประเวศบุรีรมย์เป็นคลองสายหลักที่มีความยาวและใหญ่ที่สุด ทำให้ผู้คนในพื้นที่เขตลาดกระบังยังคงเดินทางสัญจรทางน้ำ นอกจากนี้พื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นพื้นที่ทางการเกษตร


ประวัติวัดสุทธาโภชน์

ประวัติของวัดสุทธาโภชน์ 



           หากจะเล่าถึงก็คงต้องเอ่ยนามของ "เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น" หรือเจ้าจอมมารดากลิ่น ผู้ซึ่งมีความสำคัญต่อวัดสุทธาโภชน์เป็นอย่างมาก เจ้าจอมมารดากลิ่นผู้นี้เป็นพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และยังมีเชื้อสายมอญเต็มตัว โดยท่านเป็นเป็นธิดาของพระยาดำรงค์ราชพลขันธ์ (จุ้ย คชเสนี) และเป็นหลานปู่ของเจ้าพระยามหาโยธารามัญราช (ทอเรียะหรือชื่อไทยว่าทองชื่น) เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) เป็นบุตรชายของ เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ซึ่งเป็นมอญอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารแต่ครั้งกรุงธนบุรี เมื่อเจ้าจอมมารดากลิ่นได้ถวายบังคมลาออกจากพระบรมมหาราชวังมาอยู่กับพระโอรสภายนอก ท่านก็ชอบเดินทางไปตามหัวเมืองเพื่อพักผ่อนสูดอากาศบริสุทธิ์อยู่เนืองๆ รวมถึงย่านลาดกระบังนี้ด้วย และด้วยความเป็นผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เจ้าจอมมารดากลิ่นจึงมาทำบุญไหว้พระที่วัดสุทธาโภชน์ หรือเดิมชื่อวัดสุทธาวาสอยู่บ่อยครั้ง แต่ในหน้าแล้งน้ำในคลองแห้งจนไม่สามารถพายเรือเข้ามาที่วัดได้ ท่านจึงมีดำริให้ย้ายวัดมาสร้างใหม่ในที่ดินของท่าน อยู่ริมคลองลำปลาทิวที่สามารถพายเรือไปมาได้สะดวกยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้ชาวมอญได้มีสถานที่ทำบุญตามประเพณีอีกด้วย โดยทุกปีท่านจะร่วมกับชาวไทยและมอญจองกฐินที่วัดนี้ นอกจากนี้ยังได้ ปลูกสร้างตำหนักในบริเวณใกล้เคียงกับวัดอีก 7 หลัง ต่อมาเมื่อท่านถึงแก่อสัญกรรม ทายาทจึงได้ถวายที่ดินบริเวณนั้นแก่วัด

           ดังนั้นผู้ที่มาเยือนวัดสุทธาโภชน์ก็อย่าลืมมาสักการะอนุสาวรีย์เจ้าจอมมารดากลิ่นที่ซุ้มบุษบกหน้าอุโบสถกันเสียก่อน อนุสาวรีย์นี้ทำจากหินอ่อนแกะสลักเป็นรูปเจ้าจอมมารดากลิ่นครึ่งตัวในชุดแต่งกายประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตั้งอยู่เคียงข้างกับพระรูปหินอ่อนครึ่งตัวของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และบริเวณด้านข้างนั้นซุ้มบุษบกนั้นก็จะมีเรือมาดลำใหญ่อยู่ลำหนึ่งเป็นเรือของเจ้าจอมมารดากลิ่น เป็นเรือมาดสี่แจว คือต้องใช้ฝีพายสี่คนในการแจวเรือ โดยเรือมาดสี่แจวนี้ถือว่าเป็นเรือของคนใหญ่คนโต เพราะหากเป็นเรือของคนธรรมดาจะเป็นเรือเพียงสองแจว



ประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ

ประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ
    

        ประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ เป็นวัฒนธรรมประเพณีของชาวรามัญ หรือชาวมอญที่สืบทอดมายาวนาน คู่ชาวไทยเชื้อสายมอญในชุมชนเลียบคลองมอญ เขตลาดกระบัง และคำว่า “พระร้อย” หมายถึงการนิมนต์พระสงฆ์ จำนวน 100 รูป มารับบิณฑบาตทางเรือ ลักษณะเป็นการตักบาตรคล้ายกับการตักบาตรเทโวโรหณะ แต่ใช้เรือมาดเป็นพาหนะมารับบิณฑบาต ซึ่งเป็นเรือที่เก็บรักษาและอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี โดยประชาชนจะนั่งคอยใส่บาตรพระเรียงรายอยู่ริมตลิ่งตามแนวคลองลำปลาทิวยาวนับหลายร้อยเมตร ซึ่งเป็นภาพที่สวยงาม น่าตื่นตาตื่นใจและนับวันจะหาดูได้ยาก หลังจากที่ตักบาตรเสร็จสิ้นแล้วจะมีการถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ จุดเด่นคือชาวบ้านจะจัดสำรับคาวหวานอย่างสวยงาม เป็นสำรับโบราณเก่าแก่หลากหลายรูปแบบจำนวนนับร้อยชุด บางชุดเป็นมรดกตกทอดมีอายุกว่า 100 ปี และ ในช่วงบ่ายจะมีการแข่งขันเรือพายพื้นบ้านของชาวบ้านและชุมชนใกล้เคียงอย่างสนุกสนาน เป็นการแสดงวิถีชีวิตสืบเนื่องกับการอาศัยอยู่ริมคลองตลอดจนความรัก ความสามัคคีของชุมชนได้เป็นอย่างดี เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นอันดีงาม จึงขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมงาน ประเพณี และเที่ยวชมการแข่งขันเรือพายประเภทต่างๆ ประเพณีนี้ยังคงหลงเหลือจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน
















งานบวชมอญ

งานบวชมอญ

การบวชพระถือเป็นประเพณีกรรมที่ชายชาวไทยเชื้อสาย มอญ ได้ยืดถือและผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาทุกคนถือปฏิบัติกันเป็นปัจจัยสำคัญ อีกขั้นตอนหนึ่งของชีวิตที่จะเปลี่ยนสภาพ ของชายหนุ่มไปสู่การเป็นผู้มีความรู้ในทางธรรม ความศรัทธาในการบวชเมื่อชายหนุ่มมีอายุครอบ 20 ปี จะต้องผ่านพิธีกรรมการบวช โดยเชื่อว่าพ่อแม่จะได้บุญ เมื่อสึกแล้วจึงแต่งงาน ได้ แต่ถ้าแต่งงานก่อนบวชพ่อแม่จะได้บุญครึ่งเดียวโดยภรรยาได้อีกครึ่งหนึ่ง ในสังคมการบวชคือ กระบวนการขัดเกลาทางสังคมอย่างหนึ่ง เป็นการให้การอบรมศึกษาตามหลักพุทธ ศาสนาที่สอนให้เป็นคนดีฝึกสมาธิและรู้จักอดทน เมื่อสึกออกมาแล้วจะได้เป็นผู้ใหญ่ และสามารถเป็นผู้นำครอบครัว ความเลื่อมใสศรัทธาในศาสนาเป็นพลังผลักดันให้เกิดพิธีกรรม ซึ่ง เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของคนในตระกูล เครือญาติและเพื่อนบ้าน

พิธีบวชของชาวมอญ ก็เหมือนกับพิธีบวชของชาวไทยทั่วไปเพราะต่างนับถือพระพุทธศาสนาด้วยกัน แต่งานจะแตกต่างกันบ้างในเรื่องความเชื่อ และประเพณีของแต่ละคนเท่านั้น ในพิธีการบวชนี้จะเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนบวชประมาณ 1 เดือน หรือ 15 วัน จะนำผู้ที่จะบวชไปฝากพระคือให้เข้าวัด ใช้ชีวิตกินนอน อยู่ที่วัด หัดสวดมนต์ถือเป็นการเตรียมตัวเองก่อนบวช และมีพิธีกรรมที่ก่อนถึงวันบวช 1 วัน พ่อแม่นาคจะตั้งศาลเพียงตา เพื่อบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทาง สำหรับจัดงานที่วัดหรือที่บ้านซึ่งไม่มีศาลพระภูมิ หากบ้านใดมีศาลพระภูมิให้จัดไหว้ที่ศาลพระภูมิแทน การปลงผมนาค ชาวมอญจะใช้ผ้าขาวรอง ซึ่งเป็นผ้าขาวม้า หรือผ้าสะอาด ชนิดใดก็ได้ที่กว้างและยาวพอที่จะรองรับผมมิให้ตกลงพื้น นำผมทั้งหมดใส่กระทงไปวางไว้โคนต้นไม้หรือลอยน้ำไปเพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ เจ้าของ ญาติผู้ใหญ่จะโกนผมกันเองในระหว่างญาติ และนิมนต์พระมาสวดมนต์เย็นและทำขวัญนาคในตอนหัวค่ำ ซึ่งชาวมอญบางบ้านก็มีการทำขวัญนาคและจัดงานฉลองคล้ายกับคนไทย




เมื่อนำนาคไปอุปสมบท จะมีเครื่องแห่เรียกว่า คานหามแห่นาค ซึ่งแต่ละคนจะประดิษฐ์เป็นรูปต่าง ๆ เช่น รูปม้า รูปเรือ รูปดอกบัว รูปราชสีห์ จะเป็นแบบใดก็ตาม จะต้องมีเก้าอี้วางอยู่ตรงกลางเพื่อให้นาคนั่งคนหามหลายคนก็จะยกคานขึ้นใส่ บ่า แล้วเต้นไปตามจังหวะเพลงรอบอุโบสถจนครบสามรอบ
ก่อนเข้าอุโบสถ จะมีพิธีไหว้เสมา และโยนทาน การโยนทานนั้นจะต้องหยิบสตางค์จำนวนหนึ่งจากพานมาอมไว้ ที่เหลือโปรยทานไปก่อน เมื่อเงินในพานหมดแล้วจึงคายออกเพื่อแจกให้ญาติสนิทและผู้ใกล้ชิด ถึงตอนนี้คนก็จะแย่งกันชุลมุนอันตรายมาก บางทีล้มลงศีรษะแตกก็มี ส่วนเหรียญสุดท้ายที่นาคจะคาบไว้ในปาก ผู้เป็นมารดาจะต้องเอาปากไปคาบเหรียญนี้ออกจากปากนาค แล้วเก็บไว้เป็นเหรียญก้นถุง




ปัจจุบันการแห่แบบใช้คานหามและการโยนทานแบบอมเงินไว้ในปากมีน้อยลง เพราะเป็นการสิ้นเปลือง และมีอันตราย




ส่วนความแตกต่างจากคนไทยก็คือในเรื่องของการแต่งกายของนาค ที่หลายคนไม่คุ้นเคยคงแปลกใจ เหตุใดนาคมอญต้อง "แต่งหญิง" นุ่งผ้าม่วง ห่มสไบ เขียนหน้า ทาปาก ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของการบวชแบบมอญอย่างหนึ่ง ที่การแต่งกายนาคที่จะแต่งตัวเหมือนผู้หญิง โดยมีที่มาอยู่ว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้ายังดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จหนีออกทางพระบัญชรห้องบรรทมเพื่อออกผนวช ขณะนั้นพระองค์ยังฉลองพระองค์กษัตริย์ ทรงเครื่องมงกุฎ เพชรนิลจินดาประดับพระวรกายบรรดามี เทวดาแปลงจูงม้ากัณฐกะ พาเหาะออกไปทางหน้าต่างพระราชวัง




คนมอญจึงจับเอาคติตอนที่ว่านี้เอง เมื่อคนเรายังอยู่ในเพศฆราวาสแม้จะมีทรัพย์สินศฤงคารมากมายเพียงใด แต่ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งของนอกกาย เมื่อจะเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ก็จำต้องสละสิ่งเหล่านั้นไปสู่เพศที่บริสุทธิ์
การ แต่งกายนาคมอญจึงสวยงามราวรูปกษัตริย์ เหตุสำคัญประการหนึ่งที่การแต่งนาคกระเดียดไปทางผู้หญิง ก็เพราะญาติผู้หญิงเป็นคนแต่งให้ ดังนั้นข้าวของเครื่องใช้ก็ใช้ของผู้หญิง ซึ่งงานบวชนี้ คนมอญโดยเฉพาะผู้หญิงจะเรียกว่า "งานส่งนาคเข้าโบสถ์" ด้วยสตรีทำได้เพียงเท่านั้น แม้แต่ จะก้าวล่วงธรณีประตูโบสถ์ยังทำไม่ได้ จึงเป็นช่วงเวลาสุดท้ายที่ญาติฝ่ายหญิงจะได้จับต้องเนื้อตัวนาคซึ่งเป็นชาย ได้ เป็นการร่วมบุญตามประสาเพศที่ยังมีช่องว่างในการเข้าถึงแก่นพระพุทธศาสนา

ทางจังหวัดสมุทรสาคร นาคจะนุ่งผ้าม่วง คาดเข็มขัดนาค ห่มสไบมอญสองผืนสีตัดกันและเหลื่อมกันเล็กน้อย ไม่เหลือง-ชมพู ก็ส้ม-เขียว หรือน้ำเงิน-เหลือง โดยจะห่มไหล่เดียวคล้ายพระสวมอังสะ มีผ้าปักพาดไหล่ขวา ใส่ต่างหูและทัดดอกไม้หูซ้าย สวมสร้อยคอ กำไลมือ กำไลเท้า แต่งหน้าทาปาก 



ส่วนนาคมอญแถบราชบุรี สุพรรณบุรี มีรายละเอียดต่างไปอีก ได้แก่ การสวมมงกุฎเครื่องใหญ่อย่างงาม แถมเวลาแห่นาคไปลาศาลเจ้าที่ กราบขมาลาญาติผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน และตอนจะเข้าโบสถ์ก็จะให้นาคขี่ม้าด้วย นัยว่าเป็นม้ากัณฐกะอย่างเมื่อสมัยพุทธกาล
แต่เมื่อเข้าพิธีอุปสมบทแล้วจะห่มจีวรเป็นพระสงฆ์ เหมือนแบบไทยทุกประการ
ชาวมอญส่วนใหญ่ที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียงนิยมนำบุตรหลานมาบวชที่วัดศรัทธาธรรม ตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เพราะพระภิกษุที่เป็นชาวมอญจำพรรษาอยู่เป็นจำนวนมาก และยึดถือขนบธรรมเนียมและประเพณีการบวชแบบชาวมอญอยู่อย่างเคร่งครัด

ไม่ว่าพิธีกรรมจะแตกต่างกันบ้าง แต่สิ่งที่เหมือนหันของทั้งไทยและมอญก็คือการทำเพื่อทดแทนคุณบิดามารดาและผู้มีพระคุณ ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พึงกระทำเมื่อถึงวาระหรือวัยอันควร

ประเพณีการทำโลงมอญ


      อ.สมพิศ มงคลพันธ์ ช่างควบคุมการก่อสร้างปราสาท บอกว่า เมื่อมีพระมอญรูปหนึ่งรูปใดมรณภาพลง โดยเฉพาะพระชั้นผู้ใหญ่ที่มีพรรษาสูง มีศีลจารวัตรที่งดงาม ไม่ด่างพร้อย การจัดงานศพจึงค่อนข้างยิ่งใหญ่กว่าศพคนธรรมดาสามัญทั่วไป ด้วยการสร้างปราสาทสำหรับตั้งศพ พระรูปใดที่มีคุณสมบัติดีเลิศ ลูกศิษย์จะสร้างปราสาทให้ถึง ๙ ยอด พระรูปใดที่มีคุณสมบัติทางพรรษา และคุณธรรมน้อย ยอดปราสาทก็จะลดน้อยลงตามลำดับ เพราะราคาปราสาทนั้นแพงมาก ประกอบกับช่างฝีมือชาวมอญก็หายาก และมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ
 ตัวปราสาทจะทำจากไม้ และกระดาษ ตามพิธีของมอญโบราณจะเผาปราสาทไปพร้อมๆ กับโลงศพ เนื่องจากปราสาทมีราคาแพงมาก เพราะทำจากไม้อย่างดี จึงไม่ค่อยมีให้เห็นบ่อยครั้งนัก
 คติความเชื่ออย่างหนึ่ง ของพุทธศาสนิกชนชาวมอญ คือ คนมอญนิยมไปงานศพมากกว่าที่จะไปงานทอดกฐิน แม้ว่ากฐินจะเป็นกาลทาน ซึ่งหมายถึงปีหนึ่งทำได้ครั้งเดียว แต่การเผาศพพระเกจิอาจารย์มอญถือเป็น มหากาลทาน ซึ่งเป็นทานใหญ่กว่า ที่นานๆ ครั้งจะมีหน
 ทั้งนี้ เพราะคติความเชื่อของอานิสงส์แห่งการเผาศพ อาจารย์ "ฟะ" นักปราชญ์มอญ ที่แต่งเรื่องราวรวมถึงพิธีกรรมต่างๆ ของมอญไว้หลัง พ.ศ.๒๓๑๐ ซึ่งเป็นปีแรกที่กรุงหงสาวดีแตก ใช้เป็นบรรทัดฐานความเชื่อมาจนถึงปัจจุบัน
 ท่านได้กล่าวถึงอานิสงส์ของการเผาศพไว้ว่า
 ๑.บุคคลคนใดทำโลงศพให้วิจิตรงดงามจะได้อานิสงส์ ๑,๐๐๐ ชาติ ๒.บุคคลใดนิมนต์พระสงฆ์มาพิจารณาซากศพ ซึ่งเป็นกรรมฐานจะได้รับอานิสงส์ ๒,๐๐๐ ชาติ และ ๓.เผาศพพระพุทธเจ้าจะได้รับอานิสงส์ไม่มีที่สิ้นสุด การไปร่วมงานเผาพระเกจิมอญที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็จะได้อานิสงส์ทั้งหลายนั้น จะส่งให้ผู้ที่ไปในการเผาศพสมบูรณ์ไปด้วยมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ ได้ไปบังเกิดในพรหมโลก ไม่ต้องตกอยู่ในอบายมุขใดทั้ง ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งบางคนก็เชื่อว่า เป็นเพียงอุบายให้คนกระทำแต่ความดีเท่านั้น นรก สวรรค์ ไม่มีจริงแต่ประการใด
 อ.สมพิศ ยังบอกด้วยว่า ทุกวันนี้ชุมชนมอญหลายแห่งที่กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของตนเองไว้อย่างเหนียวแน่น ดังนั้นเมื่อมีพระมอญรูปหนึ่งรูปใดมรณภาพลง โดยเฉพาะพระชั้นผู้ใหญ่ที่มีพรรษาสูง มีศีลจารวัตรที่งดงาม ไม่ด่างพร้อย การจัดงานศพจึงค่อนข้างยิ่งใหญ่กว่าศพคนธรรมดาสามัญทั่วไป ด้วยการสร้างปราสาทสำหรับตั้งศพ พระรูปใดที่มีคุณสมบัติดีเลิศ ลูกศิษย์จะสร้างปราสาทให้ถึง ๙ ยอด พระรูปใดที่มีคุณสมบัติทางพรรษา และคุณธรรมน้อย ยอดปราสาทก็จะลดน้อยลงตามลำดับ ๗ ยอด ๕ ยอด และ ๑ ยอด
 อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่น่าวิตก คือ ปัจจุบันนี้ราคาปราสาทนั้นแพงมาก ประกอบกับช่างฝีมือชาวมอญก็หายาก และมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ ตัวปราสาทจะทำจากไม้และกระดาษ ตามพิธีของมอญโบราณจะเผาปราสาทไปพร้อมๆ กับโลงศพ คล้ายๆ กับที่คนจีนเผากระดูกไปให้บรรพบุรุษ
 การสร้างปราสาทเพื่อเผาพระเกจิมอญจึงไม่ค่อยให้เห็นบ่อยครั้งนั้น ส่วนใหญ่จะเห็นเป็นเมรุลอย และปราสาทหลังนี้น่าจะเป็นหลังสุดท้ายที่จะเป็นเสาหลักแต่ก็ยังจะให้ข้อมูลและยินดีออกแบบให้ เพราะอายุมากแล้ว
ประวัติ ประเพณีการทำโลงมอญ
 (โดย..อาจารย์สมพิศ มงคลพันธ์)
         โลงมอญตามภาษามอญเขาเรียกว่า "กะลาบ๊อก"  แปลเป็นภาษาไทย "กะลา" แปลว่า โลง ส่วนคำว่าบ๊อก แปลว่า ขุดหรือจอบเอาเนื้อไม้ออก
สมัยโบราณเขาใช้ต้นไม่ใหญ่ๆที่เรียกว่าซุง เอามาตัดแบ่งให้ได้สัดส่วนแล้วจะใช้เครื่องมือขุดจอบเอาเนื้อไม้ออกเป็นร่องลึกลงไป จนเป็นรูปโลง แล้วทำพิธีเบิกยืดไม้ให้สูง-กว้างตามที่ต้องการ ใช้ไฟรุมคล้ายๆกับการทำเรือมาดเช่นเดียวกัน  เสร็จแล้วก็มาตบแต่งให้เป็นลักษณะอ่อนช้อย เช่นก้นโลงเล็ก ปากโลงกว้างเป็นรูปทรงคล้ายๆกับโกศศพของไทย และเหมือนกับดอกผักบุ้ง  ส่วนฝานั้นจะทำเป็นโครงหลังคาคล้ายๆทรงโบสถ์  มีส่วนย่อชั้นลดลงมาเป็นชั้นๆ ตามมุมจะย่อลงมาเรียกว่า "ไขลาหรือตะเข้" ประดับด้วยกระจังต่างๆสวยงามน่าชมยิ่งนัก
การทำโลงมอญนี้เปรียบเสมือนเท่ากับ การทำปราสาทพระราชวัง หรือบ้านให้แก่ผู้ตายเป็นการอุทิศเนรมิตรเป็นวิมาณ เป็นที่อยู่สุขสำราญของผู้ที่มีบุญสร้างบารมีไว้มากมาย ที่ว่าดวงวิญญาณจะได้ไปอยู่ ณ สรวงสวรรค์ชั้นฟ้านั่นเอง
โลงมอญนี้  บางท่านคิดอยู่ในใจอยากจะถามว่า "ทำมาแต่สมัยไหน  ทำเพื่ออะไร และทำเพื่อใคร" ก็จะตอบได้ว่าโลงมอญนี้ทำมาตั้งแต่สมัยมอญยังมีเอกราช เรียกว่ารามัญประเทศ นับเป็นพันๆปีมาแล้ว - จนถึงปัจจุบันนี้ "ทำเพื่ออะไร" ก็จะขอตอบว่าทำเพื่ออนุรักษ์วัฒนะธรรม-ประเพณี   ทำเพื่อคนที่อยู่จะได้เห็นเป็นบุคคลาธิฐาน เพื่อให้ผู้คนทั้งหลายไม่ประมาทในความตายจะได้สร้างบารมี ด้วยการทำบุญให้ทานรักษาศิลมีความเมตตาต่อสัตว์ร่วมโลก  ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้เกิดเป็นวัฒนะธรรมขึ้นมากับจิตใจของตนเอง  "ทำเพื่อใคร" การทำโลงมอญทำเพื่อผู้ตาย ผู้ที่ได้สร้างบุญบารมีเอาไว้ ก็จะได้โลงมอญแบบนี้ เป็นประเพณีทำเพื่ออุทิศให้กับผู้ตาย ดังได้กล่าวไว้ว่า คนที่บุญวาสนาบารมี ศักดินาสูงส่ง เปรียบเสมือนพวกเชื้อสายพระวงศ์ รองลงมาชั้นเจ้าพยา - สมิง - ข้าราชการ - พระเถระชั้นผู้ใหญ่-ผู้น้อย ท่านที่เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี เท่านั้นที่จะได้โลงมอญ แต่ก็อีกนั่นแหละบางท่านร่ำรวยเป็นระดับเศรษฐีมหาเศรษฐี แต่ไม่ได้สร้างบารมีใหม่ขึ้นมา ก็ไม่มีวาสนาจะได้นอนโลงมอญนี้เหมือนกัน
เพราะฉะนั้นชาวมอญจึงได้รักษาวัฒนะธรรม การทำโลงมอญพัฒนาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้  จนกลายเป็นประเพณีและเป็นเอกลักษณ์ของคนมอญที่จะรักษาไว้อย่างมั่นคง
บางท่านหรือบางคนอาจจะอยากถามว่า แล้วคนไทยจะใช้โลงมอญแบบนี้บ้างได้ไหม  ก็ตอบได้เลยว่า "ได้" เพราะการทำโลงมอญ (ข้าพเจ้าได้ทำให้คนไทยไปหลายใบเหมือนกัน) เท่ากับสร้างบ้านให้ผู้ตายหรือสร้างวิมาณให้กับผู้ตายอยู่แล้ว ไม่ว่าไทย - มอญ อยู่ได้หมดเหมือนกัน มันอยู่ที่บุญบารมีวาสนาของผู้ตาย ถ้ามีบุญบารมีลูกหลานก็จะทำอุทิศให้
การทำโลงมอญนี้พูดถึงช่างผู้คิดประดิษฐ์ทำต้องมีจิตใจที่สูงส่งพอสมควร มีจิตใจรักวัฒนะธรรม รักประเพณีอยากอนุรักษ์ของเหล่านี้ที่เป็นวัฒนะธรรมสมบัติของคนมอญ จึงจะทำได้และถ่ายทอดกันสืบต่อไป
ข้าพเจ้าทำโลงมอญมาก็เป็นเวลานานพอสมควรจนกระทั่งทำไม่ไหวเกี่ยวกับสังขาร และสายตาที่เริ่มจะไม่ค่อยดี จึงเลิกทำ แต่ก็พยายามมองหาคนที่รักศิลปะทางนี้อยู่ ก็มาเจอเจ้าหลานชายชือว่า นายชัยชาญ แสงฝ้าย (มงคลพันธ์) มีจิตใจฝักใฝ่ในศิลปะกรรมทางนี้ มาหาข้าพเจ้าอาจารย์สมพิศ มงคลพันธ์ ศักดิ์เป็นปู่ของเขา บอกว่าอยากจะเรียนทำโลงมอญ ข้าพเจ้าก็ดีใจมากๆ คิดอยู่ในใจว่า "เออพระประแดงเรายังไม่สิ้นคนดี" โดยเฉพาะท้องที่ชุมชนมอญเดิงฮะโมกข์ (มอญฝั่งตะวันออก) ของข้าพเจ้าที่อยู่ทุกวันนี้ จึงได้รับมาเป็นลูกศิษย์ และเป็นหลานด้วย จึงได้สอนแนะนำให้ทำโลงมอญได้สมดังใจ ดังที่เห็นภาพอยู่นี้ เป็นการถ่ายทอดวิชาความรู้ให้พร้อมกับมอบเครื่องมือที่เก็บรักษาของบรรพบุรุษไว้เป็นเวลานานให้กับหลานชายเพื่อรักษา และทำต่อไปให้ยาวนาน ส่วนโครงสร้าง ได้กำชับขอให้อนุรักษ์แบบอย่างสัดส่วนนี้ไว้(แบบใบแรก)ไม่ต้องเปลี่ยนแปลง ส่วนลวดลาย สีสัน นั้นสุดแต่จะคิดประดิษฐ์พัฒนาเอาเอง เพื่อให้สวยงามเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนมอญเดิงฮะโมกข์ และของตัวเราเอง  ขอให้เจริญผาสุข มีความสนุกกับวัฒนะธรรม-ประเพณีที่ดี เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงคนมีคุณธรรมประจำใจ เป็นผู้ใกล้กับพระพุทธศาสนาตลอดกาล
                                                                           อาจารย์สมพิศ มงคลพันธ์
                                                                                (สงวนลิขสิทธิ์)
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
      (โดย..พระครูสุภัทรกิจจาทร)
โลงมอญ (กะลาบ๊อก) คือโลงใส่ศพ (หีบศพ) ที่ชาวไทยเชื้อสายมอญจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทยทำขึ้นเพื่อเป็นการให้เกียรติและทดแทนบุญคุณแก่ผู้วายชนม์ โดยเฉพาะพระเถรานุเถระและพระสงฆ์มอญเมื่อมรณภาพ นอกจากนี้ ยังใช้กับศพคนมอญที่เก็บศพไว้ค้างปี หรือศพที่แห้งแล้วเท่านั้น เนื่องจากก้นหีบศพลีบ ปากหีบผายกว้าง มิเช่นนั้นจะใส่ศพไม่ได้
โลงมอญ (กะลาบ๊อก) เป็นงานศิลปะวิจิตร มีทั้งความอ่อนช้อยและอลังการ ฝาครอบโลงเป็นศิลปะประเภทลายกระดาษ จัดอยู่ในช่างสิบหมู่ประเภทลายดอกไม้
การทำโลงมอญมีขั้นตอนต่างๆ ยากมาก ผู้ทำต้องใช้วิริยะ ความอดทน และใจเย็น เพราะเป็นงานประณีต หากไม่มีอนุรักษ์ไว้อาจสูญได้
ปัจจุบัน สกุลช่างชาวมอญพระประแดงที่เป็นฆราวาสที่สามารถทำโลงมอญได้เพียง 2 คนเท่านั้น คือนายชัยชาญ แสงฝ้าย พร้อมศิยานุศิษย์พระครูสถิตกิจโกศล เจ้าอาวาสวัดกลางสวน และผู้ใหญ่กุ้ง วัดกลาง และยังมีพระภิกษุอีก 4 รูป คือ พระครูสุภัทรกิจจาทร เจ้าอาวาสวัดคันลัด พระสิทธิพัฒนาทร เจ้าอาวาสวัดทรงธรรม พระสมุห์ชวลิต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดทรงธรรม  พระครูวินัยธรวิทยา ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดแค 
                                       ขั้นตอนการจัดทำโลงมอญ (กะลาบ๊อก)
                                           (รวบรวม พระครูสุภัทรกิจจาทร)
พระครูสุภัทรกิจจาทร ได้อธิบายว่า ท่านมิใช่เป็นคนเชื้อสายรามัญ แต่เพียงมีฝีมือที่ได้รับการถ่ายทอดมาพอจะทำโลงมอญได้เท่านั้น ประกอบกับ พระมหาบุญเลิศญาณเมธี ทำวิทยานิพนธ์ การทำโลงมอญ ท่านจึงได้เขียนขั้นตอนการทำโลงมอญ เพราะเห็นว่าโลงมอญ (กะลาบ๊อก) เป็นโลงศพที่มีศิลปะที่วิจิตร สวยงามมาก มีทั้งความอ่อนช้อยของตัวโลง มีความอลังการของฝาโลง เป็นศิลปะของประเภทลายกระดาษ จัดอยู่ในช่างสิบหมู่ ประเภทลายดอกกระดาษ
ถ้าย้อนไปประมาณ 50 กว่าปีก่อน การทำโลงมอญนั้นยากมาก เช่น ไม้ที่จะใช้ทำก็ใช้ไม้ที่ทำฝาบ้าน กระดาษที่จะทำให้สวยงามก็จะเป็นกระดาษอังกฤษที่หาซื้อยากและราคาแพงมาก ซึ่งขั้นตอนในการทำมีดังนี้
1. การประกอบตัวโลง ในสมัยที่ยังไม่มีไม้อัดแผ่นบางๆ จะใช้ไม้ยางที่ใช้ทำฝาบ้าน ซึ่งมีความหนา แข็ง และตัดยาก แต่ต้องทำให้อ่อนช้อยจึงต้องใช้เวลาและอดทนมาก ให้นึกถึงการต่อเรือตังเกเอาก็แล้วกัน กว่าจะตัดไม้ให้เข้ารูปทรงอย่างที่ต้องการนั้นยากและเสียเวลามาก การทำโลงมอญก็เช่นเดียวกัน ต้องมีลูกมือช่วยจับ ช่วยตอก และต้องใช้ความอดทน ใช้เวลา จึงจะได้ความอ่อนช้อยตามที่ต้องการ
2. ปัจจุบันใช้ไม้อัดแผ่นเดียวเอามาประกอบเป็นตัวโลง จะตัดให้อ่อนช้อยอย่างไรก็ได้อย่างที่ใจต้องการ และใช้เวลาในการประกอบไม่เกิน 23 ชั่วโมง
3. การประกอบฝาครอบโลง ในสมัยก่อนต้องเอาเลื่อยมาซอยไม้ระแนงให้บาง กว้างประมาณ 1.5 ซม. เพื่อตีเป็นโครงทำเป็นหลังคาโลง และใช้ไม้ระแนงเล็กๆ นั้นมาตีตะปูเป็นรูปจั่ว ดูแล้วยุ่งยากเสียเวลา ปัจจุบันทำฝาครอบโลงง่ายขึ้นโดยใช้ไม้อัดตัดเป็นรูปจั่ว ไม่ต้องเอาไม้ระแนงมาซอยมาตอกตะปูเป็นโครงสร้างให้ลำบากยุ่งยากเสียเวลา
4. กระดาษที่ทำลายต้องใช้กระดาษอังกฤษ หาซื้อมาทั้งเล่ม เล่มหนึ่งประมาณ 100 แผ่น เอามาตอกทำเป็นลาย ที่ใช้กระดาษอังกฤษเพราะตอกลายง่าย เดินเม็ดลายก็สวยกว่ากระดาษธรรมดา แต่เวลาลอกออกจะยากหน่อย อาจจะขาดได้ การสอดสีลายก็ออกจะยาก เสี่ยงต่อการขาด การสอดสีลายก็ออกจะยาก เพราะกระดาษอังกฤษลื่น แป้งหรือกาวไม่ติดทน ถ้าติดได้นานๆ มักจะล่อนออกง่าย
5. กาว ใช้แป้งข้าวเจ้าปนแป้งข้าวเหนียว เติมน้ำ ตั้งไฟ เคี่ยวให้เข้ากัน เมื่อคลุกแล้วจะเหนียว หรือใช้หนังควายเติมน้ำตั้งไฟเคี่ยวก็ได้
6. สมัยเดิม ใช้ไม้ระกำที่เป็นเส้นตรง เหลาให้มีความกว้างประมาณ 1 ซม. หนาครึ่ง ซม. เพื่อทำคิ้วโลง และโลง 1 ใบ ต้องใช้ไม้คิ้วจำนวนมาก จึงมีความลำบากพอสมควร
แต่ปัจจุบันใช้โฟมทำคิ้วโลง โดยใช้โฟมบางมาตัดเป็นคิ้ว ง่ายกว่าการเหลาไม้ระกำ ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมงก็ติดคิ้วโลงได้ทั้งใบ ส่วนไม้ระกำก็จะยังใช้อยู่ เช่น
ก.ใช้ประกอบหน้าจั่ว หรือหน้าบันทั้งสามชั้น
ข.ใช้ติดลายที่เป็นแผง กระจังทั้ง 6 แผ่น
ค.ใช้ติดลายที่ต้องยกดอก เพราะเหมาะแก่การที่จะเอาตะปูเข็มเสียบแววกะพริบเมื่อเวลาโดนลม ก็จะไหวเพิ่มความสวยงาม โดนแสงไฟก็สวยมาก ถ้าวัสดุอื่น เช่น โฟมก็จะหลุดง่าย ไม่ดูด และเหนียวเหมือนระกำ
ง.ใช้กลึงให้กลมตามขนาดที่ต้องการ ติดกระดาษสลับสี พันเป็นรูปกระบองยักษ์ติดตามมุมโลง ทั้งสี่ด้านทำให้ดูสวยงามมากขึ้น
ขั้นตอนการประกอบตัวโลงและการประกอบฝาโลงศพนั้น ต้องใช้สมาธิ ความสามารถ ประสบการณ์ ความอดทน ใจเย็น เพราะต้องตอกลวดลายต่างๆ การสอดสีลายให้ดูสวยงามขึ้นอยู่กับวัยของผู้วายชนม์
นอกจากนี้แล้ว การยกโลงมอญ (ฮะลาบ๊อก) จะใช้แคร่ยกเพื่อป้องกันการจับต้องตัวโลงที่ตกแต่งไว้อย่างสวยงาม ไม่ให้หลุดขาดไป
เมื่อถึงเวลาเผา จะเผากันที่เมรุกลางแจ้ง (เมรุลอย) คือเผาทั้งโลงเลย ต้องคอยพรมน้ำที่ตัวโลงให้ค่อยๆ ไหม้ไปพร้อมกับศพ