วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ประวัติวัดหงษ์ปทุมาวาส

วัดหงษ์ปทุมาวาส
       ตำบลบางปรอก อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี โทรศัพท์ o๒-๕๘๑๖๒๕๒ วัดหงษ์ปทุมาวาสตั้งอยู่เลขที่ ๓๕ บ้านคลองบางปรอก ตำบลบางปรอก อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินที่ตั้งวัด เนื้อที่ ๑๒ ไร่ ๑ งาน ๕๒ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๕๔๑๖, ๕๔๑๗, ๑๓๔๗
       พื้นที่ตั้งวัด
ด้านทิศเหนือยาว ๓ เส้น ๑oวา ติดต่อกับที่ดินเอกชน
ด้านทิศใต้ยาว ๔ เส้น ๑๕ วา ติดต่อกับคลองบางโปร่ง
ด้านทิศตะวันออกยาว ๒ เส้น ๕ วา ติดต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา
ด้านทิศตะวันตก ๔ เส้น ๓ วา ติดต่อกับที่ดินเอกชน

       สภาพของวัด
เป็นที่ราบลุ่มริมฝั่ง ด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา

       ประวัติเดิม
วัดหงษ์ปทุมาวาสได้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๗ โดยมีชาวมอญซึ่งอพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์ได้พำนักอาศัยอยู่ที่เมืองปทุมธานี ได้สร้างวัดขึ้นและขนานนามว่า “วัดหงษา” ตามชื่อเสียงหงสาวดีเมืองหลวงของชาวมอญโดยสร้างเสาหงษ์ไว้เป็นเอกลักษณ์ด้วย ต่อมาได้เปลี่ยนนามวัดเป็นวัด “วัดหงษ์ปทุมาวาส” เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๓ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๓oธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๔ เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๔o เมตร ยาว ๖o เมตร และได้ดำเนินการผูกพัทธสีมาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ ๑o เมษายน พ.ศ.๒๕๒๕

       การศึกษา
ทางวัดได้เปิดการสอนพระปริยัติธรรมเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘o

       ปูชนียวัตถุภายในวัด
วัดนี้มีปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ พระประทานในอุโบสถเป็นพระพุทธชินราชจำลอง ปางมารวิชัย เจดีย์มอญมีเสาหงษ์ หอระฆังแบบรามัญ เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ที่มาเนื้อหา : http://watpathumthani.org/?p=525








ที่มารูป : http://topicstock.pantip.com/religious/topicstock/2009/11/Y8563766/Y8563766.html

       รายละเอียดสถานที่ท่องเที่ยว
  วัดหงษ์ปทุมาวาส เดิมชื่อ วัดหงษา ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ตำบลบางปรอก อำเภอเมือง ใกล้กับตลาดสดเทศบาลปทุมธานี สร้างขึ้นสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ผู้ริเริ่มก่อสร้างไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด วัดหงษ์ปทุมาวาส เป็นวัดของชนชาวมอญ ที่ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่ตำบลบางปรอก โดยการนำของพระยาเจ่ง เมื่อครั้งที่ได้ต่อสู้กับกองทัพพม่า แต่สู้ไม่ได้ พระยาเจ่งจึงได้พาครอบครัวชาวมอญอพยพมากรุงธนบุรี เพื่อหวังพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้ากรุงธนบุรี (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ครอบครัวชาวมอญที่มากับพระยาเจ่งพักอาศัยอยู่ที่เมืองสามโคกและเมืองนนทบุรี  
            สิ่งที่น่าเชื่อถือว่า วัดหงษ์ปทุมาวาส เป็นวัดที่สร้างขึ้นโดยชนชาวมอญ คือ สัญลักษณ์ของชนชาวมอญ ประการแรก คือ เสาหงษ์  และตัวหงส์บนยอดเสา ซึ่งหมายถึง เมืองหงสาวดี ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของชนชาวมอญ ประการที่สอง คือ เจดีย์ทรงมอญ ซึ่งเป็น เจดีย์ที่ได้จำลองแบบมาจาก เจดีย์จิตตะกอง  ประการที่สาม คือ วิหารซึ่งจำลองมาจากกรุงหงสาวดี ปัจจุบันวิหารได้ถูกรื้อถอนไปหมดแล้ว ในพระอุโบสถมีพระพุทธชินราชจำลองและพระประธานในพระอุโบสถหลังเก่าประดิษฐานเป็นพระประธาน ที่วิหารพระมีรูปหล่อ พระพุทธชินราช หลวงพ่อโสธร หลวงพ่อวัดเขาตะเครา สมเด็จพระพุทธาจารย์(โต) หลวงปู่เฒ่า หลวงปู่เอี่ยม ที่ชาวบ้านนับถือ และมีศาลาการเปรียญประดับด้วยไม้แกะสลักสวยงาม
            ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2485 ได้เปลี่ยนชื่อจาก วัดหงษา มาเป็น วัดหงษ์ปทุมาวาส จึนถึงปัจจุบัน วัดหงษ์ปทุมาวาสมีเนื้อที่จำนวน 11 ไร่ 3 งาน 32 ตารางวา ชุมชนที่อาศัยบริเวณรอบวัดหงษ์ปทุมาวาส เดิมเป็นชุมชนชาวมอญที่ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) โดยประกอบอาชีพด้านการเกษตรกรรมและการทำเครื่องปั้นดินเผา ในปัจจุบันชาวมอญดังเดิมได้เสียชีวิต บางส่วนย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่นบ้าง และชาวมอญรุ่นหลัง ๆ ได้แต่งงานกับคนไทย จนกลายเป็นคนไทยเชื้อสายรามัญ ในปัจจุบัน
               วัดแห่งนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการอนุรักษ์พันธุ์ปลาหน้าวัด มีพันธุ์ปลาต่างๆ มากมายที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาเช่น ปลาสวาย ปลาเทโพ ปลาแรด ปลาตะเพียน และปลาอื่นอีกหลายชนิด ว่ายมาชุมนุมอาศัยกันอยู่เนืองแน่นเพื่อรอรับอาหารจากผู้มาทำบุญไหว้พระที่ วัดและมาเที่ยวที่ "วัดหงษ์ปทุมาวาส"

 ที่มา : http://thai.tourismthailand.org/สถานที่ท่องเที่ยวและกิจกรรม/รายละเอียดสถานที่ท่องเที่ยว/วัดหงษ์ปทุมาวาส-วัดมอญ--2305

       ภายในโบสถ์
     

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น