วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

งานบวชมอญ

งานบวชมอญ

การบวชพระถือเป็นประเพณีกรรมที่ชายชาวไทยเชื้อสาย มอญ ได้ยืดถือและผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาทุกคนถือปฏิบัติกันเป็นปัจจัยสำคัญ อีกขั้นตอนหนึ่งของชีวิตที่จะเปลี่ยนสภาพ ของชายหนุ่มไปสู่การเป็นผู้มีความรู้ในทางธรรม ความศรัทธาในการบวชเมื่อชายหนุ่มมีอายุครอบ 20 ปี จะต้องผ่านพิธีกรรมการบวช โดยเชื่อว่าพ่อแม่จะได้บุญ เมื่อสึกแล้วจึงแต่งงาน ได้ แต่ถ้าแต่งงานก่อนบวชพ่อแม่จะได้บุญครึ่งเดียวโดยภรรยาได้อีกครึ่งหนึ่ง ในสังคมการบวชคือ กระบวนการขัดเกลาทางสังคมอย่างหนึ่ง เป็นการให้การอบรมศึกษาตามหลักพุทธ ศาสนาที่สอนให้เป็นคนดีฝึกสมาธิและรู้จักอดทน เมื่อสึกออกมาแล้วจะได้เป็นผู้ใหญ่ และสามารถเป็นผู้นำครอบครัว ความเลื่อมใสศรัทธาในศาสนาเป็นพลังผลักดันให้เกิดพิธีกรรม ซึ่ง เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของคนในตระกูล เครือญาติและเพื่อนบ้าน

พิธีบวชของชาวมอญ ก็เหมือนกับพิธีบวชของชาวไทยทั่วไปเพราะต่างนับถือพระพุทธศาสนาด้วยกัน แต่งานจะแตกต่างกันบ้างในเรื่องความเชื่อ และประเพณีของแต่ละคนเท่านั้น ในพิธีการบวชนี้จะเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนบวชประมาณ 1 เดือน หรือ 15 วัน จะนำผู้ที่จะบวชไปฝากพระคือให้เข้าวัด ใช้ชีวิตกินนอน อยู่ที่วัด หัดสวดมนต์ถือเป็นการเตรียมตัวเองก่อนบวช และมีพิธีกรรมที่ก่อนถึงวันบวช 1 วัน พ่อแม่นาคจะตั้งศาลเพียงตา เพื่อบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทาง สำหรับจัดงานที่วัดหรือที่บ้านซึ่งไม่มีศาลพระภูมิ หากบ้านใดมีศาลพระภูมิให้จัดไหว้ที่ศาลพระภูมิแทน การปลงผมนาค ชาวมอญจะใช้ผ้าขาวรอง ซึ่งเป็นผ้าขาวม้า หรือผ้าสะอาด ชนิดใดก็ได้ที่กว้างและยาวพอที่จะรองรับผมมิให้ตกลงพื้น นำผมทั้งหมดใส่กระทงไปวางไว้โคนต้นไม้หรือลอยน้ำไปเพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ เจ้าของ ญาติผู้ใหญ่จะโกนผมกันเองในระหว่างญาติ และนิมนต์พระมาสวดมนต์เย็นและทำขวัญนาคในตอนหัวค่ำ ซึ่งชาวมอญบางบ้านก็มีการทำขวัญนาคและจัดงานฉลองคล้ายกับคนไทย




เมื่อนำนาคไปอุปสมบท จะมีเครื่องแห่เรียกว่า คานหามแห่นาค ซึ่งแต่ละคนจะประดิษฐ์เป็นรูปต่าง ๆ เช่น รูปม้า รูปเรือ รูปดอกบัว รูปราชสีห์ จะเป็นแบบใดก็ตาม จะต้องมีเก้าอี้วางอยู่ตรงกลางเพื่อให้นาคนั่งคนหามหลายคนก็จะยกคานขึ้นใส่ บ่า แล้วเต้นไปตามจังหวะเพลงรอบอุโบสถจนครบสามรอบ
ก่อนเข้าอุโบสถ จะมีพิธีไหว้เสมา และโยนทาน การโยนทานนั้นจะต้องหยิบสตางค์จำนวนหนึ่งจากพานมาอมไว้ ที่เหลือโปรยทานไปก่อน เมื่อเงินในพานหมดแล้วจึงคายออกเพื่อแจกให้ญาติสนิทและผู้ใกล้ชิด ถึงตอนนี้คนก็จะแย่งกันชุลมุนอันตรายมาก บางทีล้มลงศีรษะแตกก็มี ส่วนเหรียญสุดท้ายที่นาคจะคาบไว้ในปาก ผู้เป็นมารดาจะต้องเอาปากไปคาบเหรียญนี้ออกจากปากนาค แล้วเก็บไว้เป็นเหรียญก้นถุง




ปัจจุบันการแห่แบบใช้คานหามและการโยนทานแบบอมเงินไว้ในปากมีน้อยลง เพราะเป็นการสิ้นเปลือง และมีอันตราย




ส่วนความแตกต่างจากคนไทยก็คือในเรื่องของการแต่งกายของนาค ที่หลายคนไม่คุ้นเคยคงแปลกใจ เหตุใดนาคมอญต้อง "แต่งหญิง" นุ่งผ้าม่วง ห่มสไบ เขียนหน้า ทาปาก ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของการบวชแบบมอญอย่างหนึ่ง ที่การแต่งกายนาคที่จะแต่งตัวเหมือนผู้หญิง โดยมีที่มาอยู่ว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้ายังดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จหนีออกทางพระบัญชรห้องบรรทมเพื่อออกผนวช ขณะนั้นพระองค์ยังฉลองพระองค์กษัตริย์ ทรงเครื่องมงกุฎ เพชรนิลจินดาประดับพระวรกายบรรดามี เทวดาแปลงจูงม้ากัณฐกะ พาเหาะออกไปทางหน้าต่างพระราชวัง




คนมอญจึงจับเอาคติตอนที่ว่านี้เอง เมื่อคนเรายังอยู่ในเพศฆราวาสแม้จะมีทรัพย์สินศฤงคารมากมายเพียงใด แต่ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งของนอกกาย เมื่อจะเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ก็จำต้องสละสิ่งเหล่านั้นไปสู่เพศที่บริสุทธิ์
การ แต่งกายนาคมอญจึงสวยงามราวรูปกษัตริย์ เหตุสำคัญประการหนึ่งที่การแต่งนาคกระเดียดไปทางผู้หญิง ก็เพราะญาติผู้หญิงเป็นคนแต่งให้ ดังนั้นข้าวของเครื่องใช้ก็ใช้ของผู้หญิง ซึ่งงานบวชนี้ คนมอญโดยเฉพาะผู้หญิงจะเรียกว่า "งานส่งนาคเข้าโบสถ์" ด้วยสตรีทำได้เพียงเท่านั้น แม้แต่ จะก้าวล่วงธรณีประตูโบสถ์ยังทำไม่ได้ จึงเป็นช่วงเวลาสุดท้ายที่ญาติฝ่ายหญิงจะได้จับต้องเนื้อตัวนาคซึ่งเป็นชาย ได้ เป็นการร่วมบุญตามประสาเพศที่ยังมีช่องว่างในการเข้าถึงแก่นพระพุทธศาสนา

ทางจังหวัดสมุทรสาคร นาคจะนุ่งผ้าม่วง คาดเข็มขัดนาค ห่มสไบมอญสองผืนสีตัดกันและเหลื่อมกันเล็กน้อย ไม่เหลือง-ชมพู ก็ส้ม-เขียว หรือน้ำเงิน-เหลือง โดยจะห่มไหล่เดียวคล้ายพระสวมอังสะ มีผ้าปักพาดไหล่ขวา ใส่ต่างหูและทัดดอกไม้หูซ้าย สวมสร้อยคอ กำไลมือ กำไลเท้า แต่งหน้าทาปาก 



ส่วนนาคมอญแถบราชบุรี สุพรรณบุรี มีรายละเอียดต่างไปอีก ได้แก่ การสวมมงกุฎเครื่องใหญ่อย่างงาม แถมเวลาแห่นาคไปลาศาลเจ้าที่ กราบขมาลาญาติผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน และตอนจะเข้าโบสถ์ก็จะให้นาคขี่ม้าด้วย นัยว่าเป็นม้ากัณฐกะอย่างเมื่อสมัยพุทธกาล
แต่เมื่อเข้าพิธีอุปสมบทแล้วจะห่มจีวรเป็นพระสงฆ์ เหมือนแบบไทยทุกประการ
ชาวมอญส่วนใหญ่ที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียงนิยมนำบุตรหลานมาบวชที่วัดศรัทธาธรรม ตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เพราะพระภิกษุที่เป็นชาวมอญจำพรรษาอยู่เป็นจำนวนมาก และยึดถือขนบธรรมเนียมและประเพณีการบวชแบบชาวมอญอยู่อย่างเคร่งครัด

ไม่ว่าพิธีกรรมจะแตกต่างกันบ้าง แต่สิ่งที่เหมือนหันของทั้งไทยและมอญก็คือการทำเพื่อทดแทนคุณบิดามารดาและผู้มีพระคุณ ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พึงกระทำเมื่อถึงวาระหรือวัยอันควร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น