วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ประเพณีการทำโลงมอญ


      อ.สมพิศ มงคลพันธ์ ช่างควบคุมการก่อสร้างปราสาท บอกว่า เมื่อมีพระมอญรูปหนึ่งรูปใดมรณภาพลง โดยเฉพาะพระชั้นผู้ใหญ่ที่มีพรรษาสูง มีศีลจารวัตรที่งดงาม ไม่ด่างพร้อย การจัดงานศพจึงค่อนข้างยิ่งใหญ่กว่าศพคนธรรมดาสามัญทั่วไป ด้วยการสร้างปราสาทสำหรับตั้งศพ พระรูปใดที่มีคุณสมบัติดีเลิศ ลูกศิษย์จะสร้างปราสาทให้ถึง ๙ ยอด พระรูปใดที่มีคุณสมบัติทางพรรษา และคุณธรรมน้อย ยอดปราสาทก็จะลดน้อยลงตามลำดับ เพราะราคาปราสาทนั้นแพงมาก ประกอบกับช่างฝีมือชาวมอญก็หายาก และมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ
 ตัวปราสาทจะทำจากไม้ และกระดาษ ตามพิธีของมอญโบราณจะเผาปราสาทไปพร้อมๆ กับโลงศพ เนื่องจากปราสาทมีราคาแพงมาก เพราะทำจากไม้อย่างดี จึงไม่ค่อยมีให้เห็นบ่อยครั้งนัก
 คติความเชื่ออย่างหนึ่ง ของพุทธศาสนิกชนชาวมอญ คือ คนมอญนิยมไปงานศพมากกว่าที่จะไปงานทอดกฐิน แม้ว่ากฐินจะเป็นกาลทาน ซึ่งหมายถึงปีหนึ่งทำได้ครั้งเดียว แต่การเผาศพพระเกจิอาจารย์มอญถือเป็น มหากาลทาน ซึ่งเป็นทานใหญ่กว่า ที่นานๆ ครั้งจะมีหน
 ทั้งนี้ เพราะคติความเชื่อของอานิสงส์แห่งการเผาศพ อาจารย์ "ฟะ" นักปราชญ์มอญ ที่แต่งเรื่องราวรวมถึงพิธีกรรมต่างๆ ของมอญไว้หลัง พ.ศ.๒๓๑๐ ซึ่งเป็นปีแรกที่กรุงหงสาวดีแตก ใช้เป็นบรรทัดฐานความเชื่อมาจนถึงปัจจุบัน
 ท่านได้กล่าวถึงอานิสงส์ของการเผาศพไว้ว่า
 ๑.บุคคลคนใดทำโลงศพให้วิจิตรงดงามจะได้อานิสงส์ ๑,๐๐๐ ชาติ ๒.บุคคลใดนิมนต์พระสงฆ์มาพิจารณาซากศพ ซึ่งเป็นกรรมฐานจะได้รับอานิสงส์ ๒,๐๐๐ ชาติ และ ๓.เผาศพพระพุทธเจ้าจะได้รับอานิสงส์ไม่มีที่สิ้นสุด การไปร่วมงานเผาพระเกจิมอญที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็จะได้อานิสงส์ทั้งหลายนั้น จะส่งให้ผู้ที่ไปในการเผาศพสมบูรณ์ไปด้วยมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ ได้ไปบังเกิดในพรหมโลก ไม่ต้องตกอยู่ในอบายมุขใดทั้ง ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งบางคนก็เชื่อว่า เป็นเพียงอุบายให้คนกระทำแต่ความดีเท่านั้น นรก สวรรค์ ไม่มีจริงแต่ประการใด
 อ.สมพิศ ยังบอกด้วยว่า ทุกวันนี้ชุมชนมอญหลายแห่งที่กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของตนเองไว้อย่างเหนียวแน่น ดังนั้นเมื่อมีพระมอญรูปหนึ่งรูปใดมรณภาพลง โดยเฉพาะพระชั้นผู้ใหญ่ที่มีพรรษาสูง มีศีลจารวัตรที่งดงาม ไม่ด่างพร้อย การจัดงานศพจึงค่อนข้างยิ่งใหญ่กว่าศพคนธรรมดาสามัญทั่วไป ด้วยการสร้างปราสาทสำหรับตั้งศพ พระรูปใดที่มีคุณสมบัติดีเลิศ ลูกศิษย์จะสร้างปราสาทให้ถึง ๙ ยอด พระรูปใดที่มีคุณสมบัติทางพรรษา และคุณธรรมน้อย ยอดปราสาทก็จะลดน้อยลงตามลำดับ ๗ ยอด ๕ ยอด และ ๑ ยอด
 อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่น่าวิตก คือ ปัจจุบันนี้ราคาปราสาทนั้นแพงมาก ประกอบกับช่างฝีมือชาวมอญก็หายาก และมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ ตัวปราสาทจะทำจากไม้และกระดาษ ตามพิธีของมอญโบราณจะเผาปราสาทไปพร้อมๆ กับโลงศพ คล้ายๆ กับที่คนจีนเผากระดูกไปให้บรรพบุรุษ
 การสร้างปราสาทเพื่อเผาพระเกจิมอญจึงไม่ค่อยให้เห็นบ่อยครั้งนั้น ส่วนใหญ่จะเห็นเป็นเมรุลอย และปราสาทหลังนี้น่าจะเป็นหลังสุดท้ายที่จะเป็นเสาหลักแต่ก็ยังจะให้ข้อมูลและยินดีออกแบบให้ เพราะอายุมากแล้ว
ประวัติ ประเพณีการทำโลงมอญ
 (โดย..อาจารย์สมพิศ มงคลพันธ์)
         โลงมอญตามภาษามอญเขาเรียกว่า "กะลาบ๊อก"  แปลเป็นภาษาไทย "กะลา" แปลว่า โลง ส่วนคำว่าบ๊อก แปลว่า ขุดหรือจอบเอาเนื้อไม้ออก
สมัยโบราณเขาใช้ต้นไม่ใหญ่ๆที่เรียกว่าซุง เอามาตัดแบ่งให้ได้สัดส่วนแล้วจะใช้เครื่องมือขุดจอบเอาเนื้อไม้ออกเป็นร่องลึกลงไป จนเป็นรูปโลง แล้วทำพิธีเบิกยืดไม้ให้สูง-กว้างตามที่ต้องการ ใช้ไฟรุมคล้ายๆกับการทำเรือมาดเช่นเดียวกัน  เสร็จแล้วก็มาตบแต่งให้เป็นลักษณะอ่อนช้อย เช่นก้นโลงเล็ก ปากโลงกว้างเป็นรูปทรงคล้ายๆกับโกศศพของไทย และเหมือนกับดอกผักบุ้ง  ส่วนฝานั้นจะทำเป็นโครงหลังคาคล้ายๆทรงโบสถ์  มีส่วนย่อชั้นลดลงมาเป็นชั้นๆ ตามมุมจะย่อลงมาเรียกว่า "ไขลาหรือตะเข้" ประดับด้วยกระจังต่างๆสวยงามน่าชมยิ่งนัก
การทำโลงมอญนี้เปรียบเสมือนเท่ากับ การทำปราสาทพระราชวัง หรือบ้านให้แก่ผู้ตายเป็นการอุทิศเนรมิตรเป็นวิมาณ เป็นที่อยู่สุขสำราญของผู้ที่มีบุญสร้างบารมีไว้มากมาย ที่ว่าดวงวิญญาณจะได้ไปอยู่ ณ สรวงสวรรค์ชั้นฟ้านั่นเอง
โลงมอญนี้  บางท่านคิดอยู่ในใจอยากจะถามว่า "ทำมาแต่สมัยไหน  ทำเพื่ออะไร และทำเพื่อใคร" ก็จะตอบได้ว่าโลงมอญนี้ทำมาตั้งแต่สมัยมอญยังมีเอกราช เรียกว่ารามัญประเทศ นับเป็นพันๆปีมาแล้ว - จนถึงปัจจุบันนี้ "ทำเพื่ออะไร" ก็จะขอตอบว่าทำเพื่ออนุรักษ์วัฒนะธรรม-ประเพณี   ทำเพื่อคนที่อยู่จะได้เห็นเป็นบุคคลาธิฐาน เพื่อให้ผู้คนทั้งหลายไม่ประมาทในความตายจะได้สร้างบารมี ด้วยการทำบุญให้ทานรักษาศิลมีความเมตตาต่อสัตว์ร่วมโลก  ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้เกิดเป็นวัฒนะธรรมขึ้นมากับจิตใจของตนเอง  "ทำเพื่อใคร" การทำโลงมอญทำเพื่อผู้ตาย ผู้ที่ได้สร้างบุญบารมีเอาไว้ ก็จะได้โลงมอญแบบนี้ เป็นประเพณีทำเพื่ออุทิศให้กับผู้ตาย ดังได้กล่าวไว้ว่า คนที่บุญวาสนาบารมี ศักดินาสูงส่ง เปรียบเสมือนพวกเชื้อสายพระวงศ์ รองลงมาชั้นเจ้าพยา - สมิง - ข้าราชการ - พระเถระชั้นผู้ใหญ่-ผู้น้อย ท่านที่เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี เท่านั้นที่จะได้โลงมอญ แต่ก็อีกนั่นแหละบางท่านร่ำรวยเป็นระดับเศรษฐีมหาเศรษฐี แต่ไม่ได้สร้างบารมีใหม่ขึ้นมา ก็ไม่มีวาสนาจะได้นอนโลงมอญนี้เหมือนกัน
เพราะฉะนั้นชาวมอญจึงได้รักษาวัฒนะธรรม การทำโลงมอญพัฒนาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้  จนกลายเป็นประเพณีและเป็นเอกลักษณ์ของคนมอญที่จะรักษาไว้อย่างมั่นคง
บางท่านหรือบางคนอาจจะอยากถามว่า แล้วคนไทยจะใช้โลงมอญแบบนี้บ้างได้ไหม  ก็ตอบได้เลยว่า "ได้" เพราะการทำโลงมอญ (ข้าพเจ้าได้ทำให้คนไทยไปหลายใบเหมือนกัน) เท่ากับสร้างบ้านให้ผู้ตายหรือสร้างวิมาณให้กับผู้ตายอยู่แล้ว ไม่ว่าไทย - มอญ อยู่ได้หมดเหมือนกัน มันอยู่ที่บุญบารมีวาสนาของผู้ตาย ถ้ามีบุญบารมีลูกหลานก็จะทำอุทิศให้
การทำโลงมอญนี้พูดถึงช่างผู้คิดประดิษฐ์ทำต้องมีจิตใจที่สูงส่งพอสมควร มีจิตใจรักวัฒนะธรรม รักประเพณีอยากอนุรักษ์ของเหล่านี้ที่เป็นวัฒนะธรรมสมบัติของคนมอญ จึงจะทำได้และถ่ายทอดกันสืบต่อไป
ข้าพเจ้าทำโลงมอญมาก็เป็นเวลานานพอสมควรจนกระทั่งทำไม่ไหวเกี่ยวกับสังขาร และสายตาที่เริ่มจะไม่ค่อยดี จึงเลิกทำ แต่ก็พยายามมองหาคนที่รักศิลปะทางนี้อยู่ ก็มาเจอเจ้าหลานชายชือว่า นายชัยชาญ แสงฝ้าย (มงคลพันธ์) มีจิตใจฝักใฝ่ในศิลปะกรรมทางนี้ มาหาข้าพเจ้าอาจารย์สมพิศ มงคลพันธ์ ศักดิ์เป็นปู่ของเขา บอกว่าอยากจะเรียนทำโลงมอญ ข้าพเจ้าก็ดีใจมากๆ คิดอยู่ในใจว่า "เออพระประแดงเรายังไม่สิ้นคนดี" โดยเฉพาะท้องที่ชุมชนมอญเดิงฮะโมกข์ (มอญฝั่งตะวันออก) ของข้าพเจ้าที่อยู่ทุกวันนี้ จึงได้รับมาเป็นลูกศิษย์ และเป็นหลานด้วย จึงได้สอนแนะนำให้ทำโลงมอญได้สมดังใจ ดังที่เห็นภาพอยู่นี้ เป็นการถ่ายทอดวิชาความรู้ให้พร้อมกับมอบเครื่องมือที่เก็บรักษาของบรรพบุรุษไว้เป็นเวลานานให้กับหลานชายเพื่อรักษา และทำต่อไปให้ยาวนาน ส่วนโครงสร้าง ได้กำชับขอให้อนุรักษ์แบบอย่างสัดส่วนนี้ไว้(แบบใบแรก)ไม่ต้องเปลี่ยนแปลง ส่วนลวดลาย สีสัน นั้นสุดแต่จะคิดประดิษฐ์พัฒนาเอาเอง เพื่อให้สวยงามเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนมอญเดิงฮะโมกข์ และของตัวเราเอง  ขอให้เจริญผาสุข มีความสนุกกับวัฒนะธรรม-ประเพณีที่ดี เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงคนมีคุณธรรมประจำใจ เป็นผู้ใกล้กับพระพุทธศาสนาตลอดกาล
                                                                           อาจารย์สมพิศ มงคลพันธ์
                                                                                (สงวนลิขสิทธิ์)
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
      (โดย..พระครูสุภัทรกิจจาทร)
โลงมอญ (กะลาบ๊อก) คือโลงใส่ศพ (หีบศพ) ที่ชาวไทยเชื้อสายมอญจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทยทำขึ้นเพื่อเป็นการให้เกียรติและทดแทนบุญคุณแก่ผู้วายชนม์ โดยเฉพาะพระเถรานุเถระและพระสงฆ์มอญเมื่อมรณภาพ นอกจากนี้ ยังใช้กับศพคนมอญที่เก็บศพไว้ค้างปี หรือศพที่แห้งแล้วเท่านั้น เนื่องจากก้นหีบศพลีบ ปากหีบผายกว้าง มิเช่นนั้นจะใส่ศพไม่ได้
โลงมอญ (กะลาบ๊อก) เป็นงานศิลปะวิจิตร มีทั้งความอ่อนช้อยและอลังการ ฝาครอบโลงเป็นศิลปะประเภทลายกระดาษ จัดอยู่ในช่างสิบหมู่ประเภทลายดอกไม้
การทำโลงมอญมีขั้นตอนต่างๆ ยากมาก ผู้ทำต้องใช้วิริยะ ความอดทน และใจเย็น เพราะเป็นงานประณีต หากไม่มีอนุรักษ์ไว้อาจสูญได้
ปัจจุบัน สกุลช่างชาวมอญพระประแดงที่เป็นฆราวาสที่สามารถทำโลงมอญได้เพียง 2 คนเท่านั้น คือนายชัยชาญ แสงฝ้าย พร้อมศิยานุศิษย์พระครูสถิตกิจโกศล เจ้าอาวาสวัดกลางสวน และผู้ใหญ่กุ้ง วัดกลาง และยังมีพระภิกษุอีก 4 รูป คือ พระครูสุภัทรกิจจาทร เจ้าอาวาสวัดคันลัด พระสิทธิพัฒนาทร เจ้าอาวาสวัดทรงธรรม พระสมุห์ชวลิต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดทรงธรรม  พระครูวินัยธรวิทยา ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดแค 
                                       ขั้นตอนการจัดทำโลงมอญ (กะลาบ๊อก)
                                           (รวบรวม พระครูสุภัทรกิจจาทร)
พระครูสุภัทรกิจจาทร ได้อธิบายว่า ท่านมิใช่เป็นคนเชื้อสายรามัญ แต่เพียงมีฝีมือที่ได้รับการถ่ายทอดมาพอจะทำโลงมอญได้เท่านั้น ประกอบกับ พระมหาบุญเลิศญาณเมธี ทำวิทยานิพนธ์ การทำโลงมอญ ท่านจึงได้เขียนขั้นตอนการทำโลงมอญ เพราะเห็นว่าโลงมอญ (กะลาบ๊อก) เป็นโลงศพที่มีศิลปะที่วิจิตร สวยงามมาก มีทั้งความอ่อนช้อยของตัวโลง มีความอลังการของฝาโลง เป็นศิลปะของประเภทลายกระดาษ จัดอยู่ในช่างสิบหมู่ ประเภทลายดอกกระดาษ
ถ้าย้อนไปประมาณ 50 กว่าปีก่อน การทำโลงมอญนั้นยากมาก เช่น ไม้ที่จะใช้ทำก็ใช้ไม้ที่ทำฝาบ้าน กระดาษที่จะทำให้สวยงามก็จะเป็นกระดาษอังกฤษที่หาซื้อยากและราคาแพงมาก ซึ่งขั้นตอนในการทำมีดังนี้
1. การประกอบตัวโลง ในสมัยที่ยังไม่มีไม้อัดแผ่นบางๆ จะใช้ไม้ยางที่ใช้ทำฝาบ้าน ซึ่งมีความหนา แข็ง และตัดยาก แต่ต้องทำให้อ่อนช้อยจึงต้องใช้เวลาและอดทนมาก ให้นึกถึงการต่อเรือตังเกเอาก็แล้วกัน กว่าจะตัดไม้ให้เข้ารูปทรงอย่างที่ต้องการนั้นยากและเสียเวลามาก การทำโลงมอญก็เช่นเดียวกัน ต้องมีลูกมือช่วยจับ ช่วยตอก และต้องใช้ความอดทน ใช้เวลา จึงจะได้ความอ่อนช้อยตามที่ต้องการ
2. ปัจจุบันใช้ไม้อัดแผ่นเดียวเอามาประกอบเป็นตัวโลง จะตัดให้อ่อนช้อยอย่างไรก็ได้อย่างที่ใจต้องการ และใช้เวลาในการประกอบไม่เกิน 23 ชั่วโมง
3. การประกอบฝาครอบโลง ในสมัยก่อนต้องเอาเลื่อยมาซอยไม้ระแนงให้บาง กว้างประมาณ 1.5 ซม. เพื่อตีเป็นโครงทำเป็นหลังคาโลง และใช้ไม้ระแนงเล็กๆ นั้นมาตีตะปูเป็นรูปจั่ว ดูแล้วยุ่งยากเสียเวลา ปัจจุบันทำฝาครอบโลงง่ายขึ้นโดยใช้ไม้อัดตัดเป็นรูปจั่ว ไม่ต้องเอาไม้ระแนงมาซอยมาตอกตะปูเป็นโครงสร้างให้ลำบากยุ่งยากเสียเวลา
4. กระดาษที่ทำลายต้องใช้กระดาษอังกฤษ หาซื้อมาทั้งเล่ม เล่มหนึ่งประมาณ 100 แผ่น เอามาตอกทำเป็นลาย ที่ใช้กระดาษอังกฤษเพราะตอกลายง่าย เดินเม็ดลายก็สวยกว่ากระดาษธรรมดา แต่เวลาลอกออกจะยากหน่อย อาจจะขาดได้ การสอดสีลายก็ออกจะยาก เสี่ยงต่อการขาด การสอดสีลายก็ออกจะยาก เพราะกระดาษอังกฤษลื่น แป้งหรือกาวไม่ติดทน ถ้าติดได้นานๆ มักจะล่อนออกง่าย
5. กาว ใช้แป้งข้าวเจ้าปนแป้งข้าวเหนียว เติมน้ำ ตั้งไฟ เคี่ยวให้เข้ากัน เมื่อคลุกแล้วจะเหนียว หรือใช้หนังควายเติมน้ำตั้งไฟเคี่ยวก็ได้
6. สมัยเดิม ใช้ไม้ระกำที่เป็นเส้นตรง เหลาให้มีความกว้างประมาณ 1 ซม. หนาครึ่ง ซม. เพื่อทำคิ้วโลง และโลง 1 ใบ ต้องใช้ไม้คิ้วจำนวนมาก จึงมีความลำบากพอสมควร
แต่ปัจจุบันใช้โฟมทำคิ้วโลง โดยใช้โฟมบางมาตัดเป็นคิ้ว ง่ายกว่าการเหลาไม้ระกำ ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมงก็ติดคิ้วโลงได้ทั้งใบ ส่วนไม้ระกำก็จะยังใช้อยู่ เช่น
ก.ใช้ประกอบหน้าจั่ว หรือหน้าบันทั้งสามชั้น
ข.ใช้ติดลายที่เป็นแผง กระจังทั้ง 6 แผ่น
ค.ใช้ติดลายที่ต้องยกดอก เพราะเหมาะแก่การที่จะเอาตะปูเข็มเสียบแววกะพริบเมื่อเวลาโดนลม ก็จะไหวเพิ่มความสวยงาม โดนแสงไฟก็สวยมาก ถ้าวัสดุอื่น เช่น โฟมก็จะหลุดง่าย ไม่ดูด และเหนียวเหมือนระกำ
ง.ใช้กลึงให้กลมตามขนาดที่ต้องการ ติดกระดาษสลับสี พันเป็นรูปกระบองยักษ์ติดตามมุมโลง ทั้งสี่ด้านทำให้ดูสวยงามมากขึ้น
ขั้นตอนการประกอบตัวโลงและการประกอบฝาโลงศพนั้น ต้องใช้สมาธิ ความสามารถ ประสบการณ์ ความอดทน ใจเย็น เพราะต้องตอกลวดลายต่างๆ การสอดสีลายให้ดูสวยงามขึ้นอยู่กับวัยของผู้วายชนม์
นอกจากนี้แล้ว การยกโลงมอญ (ฮะลาบ๊อก) จะใช้แคร่ยกเพื่อป้องกันการจับต้องตัวโลงที่ตกแต่งไว้อย่างสวยงาม ไม่ให้หลุดขาดไป
เมื่อถึงเวลาเผา จะเผากันที่เมรุกลางแจ้ง (เมรุลอย) คือเผาทั้งโลงเลย ต้องคอยพรมน้ำที่ตัวโลงให้ค่อยๆ ไหม้ไปพร้อมกับศพ













ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น